วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

อมุนต์เสน กับขั้วโลกใต้

อมุนต์เสน กับขั้วโลกใต้

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่โรเบอร์ตเปียรี่ไปสำรวจขั้วโลกเหนือนั่นเอง โรเบอร์ต ฟัลคอน สกอตต์ (Robert Falcon Scott) แห่งอังกฤษ ก็ยกกองสำรวจมุ่งหน้าไปทางขั้วโลกใต้ และโรอัลด์ อมุนด์เสน (Roald Amundsen) แห่งนอร์เวย์ก็ยกกองออกไปสำรวจหาขั้วโลกใต้ด้วย ทำให้การแข่งขันในการสำรวจเกิดขึ้น แต่ใครเล่าจะเป็นผู้พบความสำเร็จก่อน การออกเดินทางของสกอตต์ใช้รถแทรกเตอร์สำหรับบุกเบิกทางไปบนน้ำแข็งเป็นพาหนะสำคัญ มีกองม้าเล็กพันธุ์แมนจูเรีย สำหรับขี่ไปบนน้ำแข็ง และสุนัขลากเลื่อนร่วมไปด้วย แต่ไม่นานอากาศหนาวเหน็บของขั้วโลกใต้ทำให้รถแทรกเตอร์ของเขาแตกร้าวใช้การไม่ได้ และกีบอันแหลมคมของม้าเล็กพันธุ์แมนจูเรียใช้ขี่บนน้ำแข็งนั้นจมลึกลงไปในพื้นน้ำแข็ง ทำให้ขี่เดินทางไปไม่ได้สะดวก ในไม่ช้าก็อ่อนเพลียลงจนเดินทางต่อไปไม่ไหว จึงถูกฆ่าเอาเป็นอาหารเสีย ดังนั้นสกอตต์กับพวกจึงต้องช่วยกันผลัดกันลากเลื่อนไปเอง เพราะเขาทิ้งสุนัขที่นำไปด้วยนั้นไว้กลางทางครั้งที่หมายใจว่าจะเดินทางด้วยม้าเสียแล้ว ห่างออกไปทางทิศตะวันออกราว 100 ไมล์ อมุนด์เสนกำลังประสบโชคดีในการเดินทาง เพราะเขาใช้วิธีการต่าง ๆ แบบของเปียรี่ทั้งสิ้น คือเดินทางด้วยสุนัขลากเลื่อนไปบนน้ำแข็ง และพักในกระท่อมน้ำแข็งแบบชาวเอสกิโม ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น แต่การเดินทางของเขาก็พบกับภัยต่าง ๆ และความยกยิ่งกว่าการสำรวจของเปียรี่ไม่น้อย เพราะดินแดนขั้วโลกใต้มีอากาศหนาวเหน็บกว่า และยังมีภูเขาน้ำแข็งสูงค้ำฟ้าในที่บางแห่งก็มี กระนั้นก็ตามความพยายามของเขาได้ทำให้เดินทางไปจนถึงจุดที่อยู่ของขั้วโลกใต้ได้สำเร็จเป็นคนแรก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1911 และหลังจกานั้นมาอีก 30 วัน คณะของสกอตต์ก็เดินทางไปถึงด้วยเหมือนกัน อมุนด์เสนจึงเป็นฝ่ายชนะในการแข่งขันออกแสวงหาขั้วโลกใต้ในครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น