วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

เสียงร้องของสัตว์ในภาษาต่างๆ


เสียงร้องของสัตว์ในภาษาต่างๆ

 หมาไทยเห่า “โฮ่ง! โฮ่ง!” หมาฝรั่ง (อังกฤษ) เห่า “บาว วาว!” (Bow-wow!) ส่วนหมาจีนและหมาญี่ปุ่นจะเห่าคล้ายๆ กันคือ “วัง! วัง!”  

ใครที่มีเพื่อนชาวต่างชาติ อาจจะเคยคุยกับเขาในเรื่องสัพเพเหระ
อย่างเช่น เสียงของสัตว์ในภาษาของเขา เปรียบเทียบกับของเรา
ซึ่งเป็นประเด็นที่สนุกและไม่มีทางทะเลาะกัน (เหมือนอย่างเรื่องศาสนา หรือการเมือง)
ดูอย่างหมานั่นสิ หมาไทยเห่า “โฮ่ง! โฮ่ง!” หมาฝรั่ง (อังกฤษ) เห่า “บาว วาว!” (Bow-wow!) ส่วนหมาจีนและหมาญี่ปุ่นจะเห่าคล้ายๆ กันคือ “วัง! วัง!” 

อย่างไรก็ตาม ยังค้นไม่พบว่าหมาฝรั่ง (หรือหมาจีน) หากถูกเตะจะร้องยังไง? ... แต่เดาว่าไม่น่าจะใช่ “เอ๋ง! เอ๋ง!” เหมือนหมาไทยแน่
จริงๆ แล้ว ผมแกล้งเขียนส่งเดชว่า หมาไทย หมาฝรั่ง หมาจีน ฯลฯ ไปอย่างนั้นเอง แต่ความหมายที่แท้ก็คือ เสียงของหมา หรือสัตว์ใดๆ ก็ตาม ในภาษาหนึ่งๆ ที่เจ้าของภาษาได้ยิน (หรือถูกสอนมาแต่เด็ก) เป็นยังไง แต่จะขอเรียกแบบนี้จะได้เขียนง่ายๆ

แม้หูของคนทั้งโลก จะฟังเสียงสัตว์ผิดเพี้ยนกันไปมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่แทบทุกชาติทุกภาษาได้ยินคล้ายกันเหลือเกิน
สัตวที่ว่านี้ตัวแรกก็คือ แมว เพราะแมวส่วนใหญ่จะร้อง “เมี้ยวๆ” คล้ายแมวไทย เช่น
  • แมวเวียดนาม : meo-meo 
  • แมวจีน : miao miao 
  • แมวอังกฤษ : meow 
  • แมวเยอรมัน : miau 
  • แมวฝรั่งเศส : miaou 
  • แมวรัสเซีย : myau
  • แมวแอฟริกัน : miaau 
  • แมวอินเดีย : mya:u, mya:u (สำเนียงฮินดี)
  • แมวเบงกอล : meu-meu (สำเนียงเบงกาลี)
แต่เรื่องเมี้ยวๆ นี้ข้อยกเว้นเหมือนกัน เพราะมีแมวอย่างน้อย 5 ชาติ ที่ไม่ได้เปล่งเสียงนำเป็น ‘ม.ม้า’
แต่กลับเป็น ‘น.หนู’ ได้แก่
  • แมวญี่ปุ่น : nyaa (เนีย หรือเนี้ยวๆ?)
  • แมวเกาหลี : (n)ya-ong
  • แมวอินโดนีเซีย : ngeong
  • แมวกรีก : niaou
  • แมวเอสโทเนีย : näu
ใครพอรู้ว่าทำไมแมว 5 ชาตินี้ เปล่งเสียงนำไม่เหมือนเพื่อนแมวทั่วโลก ช่วยบอกทีเถิด ^__^
นอกจากแมวแล้วยังมีอีกา ที่คนเกือบทั้งโลกฟังแล้วตรงกันว่า “กา ๆ”
จะมีเพี้ยนไปบ้าง ก็เช่น อีกากรีก ซึ่งดัดจริตร้องเหมือนกระดกลิ้นว่า ”กรา” (kra)
รวมทั้งอีกาเดนมาร์กและอีกาแอฟริกันก็ร้อง “กรา-กรา” (kra-kra)

ส่วนอีกาผู้ดีอังกฤษนั้น เสียงแปร่งๆ เป็น “คอว์” (caw) อย่างไรก็ดี อังกฤษเรียกอีกาว่า crow (โครว์) ซึ่งสอดคล้องกับเสียงร้องในภาษาของตนนั่นเอง
ส่วนสัตว์อีก 2 ตัวที่เสียงฟัง (เกือบ) เป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก (คล้ายๆ รสชาติของเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง) ได้แก่ วัว ซึ่งถ้าไม่ร้องว่า “มอ” ก็ “มู” และนกฮูก ซึ่งคนแทบทั้งโลกบอกว่าร้อง “ฮู้” ยกเว้นนกฮูกเมืองผู้ดี ซึ่งร้อง “ทูฮวิต-ทูฮวู” (tu-whit, tu-who) แม้นกฮูกมะกันจะร้องว่า “ฮู้ต” (hoot) ก็ตามที
สำหรับหมูนั้น ผมเคยออกเสียงให้เพื่อนคนจีนไต้หวันฟังว่า “อู๊ด อู๊ด”
เชื่อไหมครับว่าเขาหัวเราะก๊ากๆ จนเกือบตกเก้าอี้ (หัวเราะเสียงหมูไทย หรือหัวเราะหน้าตาผมตอนทำเสียงหมู – ไม่แน่ใจ?)
แถมดันบอกผมว่า หมูร้อง “อ๋อย อ๋อย”
แต่ตอนหลัง เพิ่งนึกได้ว่า เขาคงจะหมายถึงหมูฝรั่งซึ่งร้อง “อ๊อยค์ อ๊อยค์” (oink oink) เพราะหมูจีน ตามตำราบอกว่าร้อง “ฮูลู ฮูลู” (hu-lu, hu-lu) ต่างหากเล่า
 เสียงร้องของหมูในภาษาต่างๆ
ส่วนหมูชาติอื่นนั้น ร้องไม่เหมือนกันสักตัวเดียว เช่น
  • หมูญี่ปุ่น (บูตะ) ร้อง “บูๆ”
  • หมูโครเอเชียร้อง “ร็อค ร็อค” (rok rok)
  • หมูเวียดนามร้อง “อุ๊ต อิ๊ต” (ผมว่าหมูเวียดนามเสียงน่ารักที่สุด)
สำหรับเราคนไทย ที่น่าสนใจคือ งู เพราะงูฝรั่งส่วนใหญ่พ่นเสียง “Sssss...”
แต่ งูฮินดี ร้องว่า pho:- pho: และงูเบงกอลร้องว่า foshe ซึ่งดูแล้วน่าจะใกล้เคียงเสียง “ฟ่อ ๆ” แบบงูเห่าไทย

ส่วน ตุ๊กแกฝรั่ง ร้องยังไงยังค้นไม่พบ แต่ตุ๊กแกอินโดนีเซียร้องว่า “โต๊เก” (toke) ซึ่งทำให้คิดถึงคำว่า “ต๊กโต” ในภาษาเหนือของเราเหลือเกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น