วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เมาต์รัชมอร์ อนุสรณ์สถานแห่งประชาธิปไตย

 

ข่าวคราวการเมืองระดับโลกที่กำลังฮิตช่วงนี้ข่าวหนึ่ง คือการที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน นายบารัค โอบามา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ  ข่าวนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเพราะโอบามาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงไม่ถึงปี ผลงานยังไม่เป็นที่ประจักษ์  คณะกรรมการรางวัลโนเบลให้เหตุผลว่าเพียงแค่นโยบายของโอบามาที่ประกาศออกมาก็สามารถทำให้โลกคลี่คลายจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ลงได้ในทันที  เราคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านายโอบามาเหมาะสมกับรางวัลอันทรงเกียรติเช่นนี้หรือไม่

หันมามองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในอดีตที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนชาวโลกกันบ้างดีกว่า  หลายคนคงผ่านตากับภาพอนุสาวรีย์หน้าประธานาธิบดีสี่คนของสหรัฐอเมริกาบนเขามหึมาจากภาพยนตร์หรือสารคดีที่เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา  รูปสลักดังกล่าวอยู่บนเขาหินแกรนิตชื่อว่าเมาต์รัชมอร์ (Mount Rushmore) ตั้งอยู่ในรัฐเซาท์ดาโกต้า  อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้รับสมญาว่าเป็น อนุสรณ์สถานแห่งประชาธิปไตย (Shrine of Democracy)


แนวคิดในการแกะสลักรูปปั้นขนาดมหึมาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1923 จุดประสงค์หลักคือเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังรัฐทางตอนกลางของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากแสงสีและความเจริญ โดยการสร้างอนุสาวรีย์ทางธรรมชาติของประธานาธิบดี  4 คน ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษจนถึงขณะนั้น ได้แก่
1. จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)
2. โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)
3. อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)
4. ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
ทั้งสี่ท่านถือเป็นจิตวิญญาณแห่งเสรีชนชาวอเมริกันในช่วง 150 ปีแรกหลังจากการก่อตั้งประเทศ


จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1789 - 1797  ท่านเป็นผู้นำกองทัพในการทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ  และต่อมาได้รับการยกย่องสถาปนาให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา  ถือว่าท่านคือบิดาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

 
โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เป็นประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ. 1801 - 1809  ท่านเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ และขยายดินแดนออกไปกว่าสองเท่าจากทีมีอยู่เดิม โดยการซื้อดินแดนในความปกครองของฝรั่งเศส (Louisiana Purchase)  ท่านเป็นผู้มีความสามารถหลายด้าน รวมทั้งผลงานทางสถาปัตยกรรม  บ้านของท่านที่มอนติเชลโล รัฐเวอร์จิเนียซึ่งออกแบบด้วยตัวเองได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก้

 
อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 1861 - 1865 ในช่วงที่ประเทศเข้าสู่ช่วงวิกฤตจากสงครามกลางเมือง (Civil War)  ลินคอล์นเกิดมาในครอบครัวชาวนายากจนในรัฐเคนทักกีตอนกลางของประเทศ  ศึกษากฎหมายด้วยตัวเองจนเป็นนักกฎหมายท้องถิ่น และไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกัน  ท่านนำรัฐฝ่ายเหนือชนะรัฐฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง เป็นผลให้เลิกทาสได้สำเร็จในสหรัฐอเมริกา  ท่านถูกลอบสังหารขณะชมการแสดงอยู่ในโรงละคร เป็นประธานาธิบดีที่เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร และยังคงเป็นประธานาธิบดีขณะเสียชีวิต

 
ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) เป็นผู้นำประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1901 - 1909 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา  ในบรรดาประธานาธิบดีที่ปรากฏบนเมาต์รัชมอร์  รูสเวลต์เป็นคนที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดว่าเขามีผลงานอย่างไรถึงคู่ควรกับตำแหน่งอนุสาวรีย์บนเขาต่อจากอีกสามท่าน (เช่นเดียวกับที่บารัค โอบามาถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับรางวัลโนเบล)  ผลงานที่ประจักษ์ชัดที่สุดของท่านคือการขุดคลองปานามาเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก ซึ่งช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้อย่างมาก และเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นหลายแห่งในสมัยที่ท่านเป็นประธานาธิบดี
ท่านมีชื่อเล่นว่าเท็ดดี้ (Teddy) ตุ๊กตาหมีของฝรั่งจะเรียกว่าเท็ดดี้แบร์ (Teddy bear) ชื่อนี้มาจากประธานาธิบดีรูสเวลต์นั่นเอง เนื่องจากครั้งหนึ่งท่านเข้าป่าล่าสัตว์แล้วมีคนจับหมีมาให้ท่านฆ่า ท่านปฏิเสธที่จะฆ่าหมีที่ไม่มีทางสู้ จึงให้ปล่อยไป  ชาวบ้านที่ทำตุ๊กตาหมีได้ยินเรื่องนี้จึงขออนุญาตเรียกตุ๊กตาหมีที่ผลิตว่าเท็ดดี้แบร์ ซึ่งท่านก็อนุญาต ชื่อนี้จึงติดตลาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 
นายช่างใหญ่ผู้ควบคุมการก่อสร้างชื่อว่า กัตซอน บอร์กลัม (Gurzon Borglum)  ลูกศิษย์ของประติมากรชาวฝรั่งเศสชื่อดัง โอกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin)


กัตซอน บอร์กลัมมีผลงานประติมากรรมที่มีชื่อเสียงมากมายก่อนจะมารับงานใหญ่ชิ้นนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างรูปแกะสลักนูนสูงขนาดใหญ่ที่ Stone Mountain รัฐจอร์เจีย เพื่อเชิดชูวีรบุรุษของชาวใต้ในสงครามกลางเมือง 

 
เขาเลือกทำเลสำหรับเมกะโปรเจกต์นี้บนเขาหินแกรนิตชื่อว่าเขารัชมอร์ (Mount Rushmore) ซึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาแบล็กฮิลล์ (Black Hills) และัหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รับแสงแดดเกือบตลอดทั้งวัน  หินที่นี่มีความแข็งสูงมากไม่แตกหักง่าย  เทคนิคที่ใช้ในการก่อสร้างคือการระเบิดหินด้วยไดนาไมต์แล้วจึงแกะสลักรายละเอียด ใช้คนงาน 400 คน งานใหญ่และท้าทายขนาดนี้กลับมีคนงานบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยและไม่มีคนตายเลยจากการก่อสร้าง

 
การก่อสร้างทั้งหมดอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1927 - 1941 แต่รวมระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างเพียงแค่ 6 ปีครึ่งเท่านั้น เนื่องจากลมฟ้าอากาศและฤดูกาล และปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน 

 
วิวจากอุโมงค์ ถนนไฮเวย์ 16A ตัดผ่านอุโมงค์สามแห่งที่รถเดินได้ทางเดียวสวนไม่ได้ ซึ่งตั้งใจตัดขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ตรงหน้าเมื่อลอดผ่านอุโมงค์ 

 
ขอจบด้วยภาพด้านหลังของเมาต์รัชมอร์ ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสเห็น  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น