วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ไดอัซ กับแหลมกู๊ดโฮป

ไดอัซ กับแหลมกู๊ดโฮป

ชาวปอร์ตุเกส ได้เพียรพยายามที่จะสำรวจฝั่งตะวันตกของอาฟริกา เพื่อหาหนทางเดินเรือไปสู่อินเดียให้ได้อยู่เกือบ 50 ปี นายเรือทุกคนพยายามนำเรือลงไปทางใต้ให้ไกลกว่าคนก่อน ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผลยังช้านักสำหรับความต้องการของพระเจ้ายอห์น ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้ บาร์โธโลมิว ไดอัซ (Bartholomeu Diaz) นักเดินเรือคนสำคัญคนหนึ่งให้เข้าเฝ้าแล้วรับสั่งว่า “ฉันต้องการให้ท่านนำเรือ 3 ลำแล่นเลียบฝั่งอาฟริกาลงไปทางใต้จนกระทั่งหาหนทางอ้อมสำรวจให้รอบทวีปจนได้” ในเวลานั้นไม่มีใครทราบเลยว่าทวีปอาฟริกามีขนาดและรูปร่างอย่างไร หลายคนเชื่อว่ามันเป็นทวีปที่ยื่นยาวลงไปจนไม่มีทางสิ้นสุดได้จนถึงขั้วโลกใต้ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ดังนั้นไดอัซจึงออกเรือเดินทางเมื่อ ค.ศ. 1487 อ้อมฝั่งตะวันตกของทวีปอาฟริกา แล้วก็พุ่งลงไปทางใต้ทันที เป็นเวลา 13 วันที่ไดอัซแล่นเรืออยู่ในทะเลลึกโดยมิได้เห็นฝั่งแต่อย่างใด เมื่อยิ่งแล่นลงไป อากาศเริ่มเย็นลง และมีลมพัดเรือให้ไปทางตะวันออก จนที่สุดเขาได้มีโอกาสเห็นฝั่งทอดไปทางตะวันออกและตะวันตก แทนที่จะเป็นเหนือไปใต้อย่างตอนแรกมา เขาจึงแล่นเรือไปทางตะวันออกแล้วอ้อมขึ้นไปทางเหนือ ไดอัซก็ทราบได้ทันทีว่า เขาได้แล่นเรืออ้อมปลายแหลมสุดของทวีปอาฟริกาแล้ว แต่ที่ปลายแหลมนี้มีลมพายุแรง คลื่นจัด ยากแก่การเดินเรืออ้อมยิ่งนัก ไดอัซจึงให้ชื่อว่า “แหลมพายุ” (Cape of Storms) เมื่อเขากลับไปกราบทูลถึงผลสำเร็จและเล่าเรื่องพายุร้ายที่แหลมใต้สุดของอาฟริกาให้พระเจ้ายอห์นฟัง พระองค์เปลี่ยนชื่อแหลมพายุนั้นเสียใหม่ว่า Cape of Good Hope ซึ่งหมายความถึงว่า “แหลมแห่งความหวังดี” นั่นคืออินเดียขุมทรัพย์ทางการค้ารอคอยอยู่ทางเมืองหน้า นับว่าไดอัซได้นำความสำเร็จในการสำรวจค้นความขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงได้ วาสโกดากามา นักเดินเรือต่อมานำกองเรืออ้อมแหลมและไปถึงอินเดียได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น